สุขภาพทางการเงินของคุณ Strong แค่ไหน

0
147104

วัยทำงานอย่างเรา ทำงานเพลินๆ ได้เงินมาก็ใช้บ้าง เก็บบ้าง ลงทุนบ้าง แต่เคยลองสำรวจตัวเองกันไหมว่า สุขภาพทางการเงินของเราเป็นยังไง วันนี้เรามีคำถามสนุกๆ เกี่ยวกับพื้นฐานทางการเงิน 6 ข้อ มาให้การประเมินตัวเองกัน แต่อย่าขี้โกงนะต้องตอบตามความจริง เพราะจะได้รู้ว่าเราควรต้องปรับปรุงตัวเองด้านไหนบ้าง

1. มีความสามารถในการผ่อนหรือซื้อบ้านหรือเปล่า ? (มีแน่นอน/น่าจะมี/ไม่มี)
2. มีความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้ตัวเองและคนในครอบครัวไหม ? (มีแน่นอน/น่าจะมี/ไม่มี)
3. มีความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ตนเองและครอบครัวไหม ? (มีแน่นอน/น่าจะมี/ไม่มี)
4. มีความมั่นคงทางด้านการเงินเพียงพอไหม หากไม่ได้ทำงาน? (มีแน่นอน/น่าจะมี/ไม่มี)
5. มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับตอนเกษียณไหม ? (มีแน่นอน/น่าจะมี/ไม่มี)
6. คิดว่าอายุเท่าไหร่ที่ควรเกษียณ ?

จากข้อ 1-5 ตอบอย่างมั่นใจเลยว่า “มีแน่นอน” กันกี่ข้อ ? แต่คนส่วนมากน่าจะตอบ “น่าจะมี” กัน แบบว่ากะๆ เอาว่าคงพอมั้ง เพราะไม่เคยดีดตัวเลขจริงจังไรงี้ จากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ของซิกน่า ด้วยคำถามแบบเดียวกันนี้ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน (คือตอบว่า “มีแน่นอน” กันน้อย) โดยเฉพาะคนอายุ 30-39 ปี จะเครียดเรื่องเงินที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากช่วงอายุนี้เป็นเสาหลักในการหารายได้ของครอบครัว ทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่และลูกๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ค่าบ้านค่ารถ เรามาดูผลสำรวจของแต่ละหัวข้อกันว่าจากผลสำรวจนี้ คนไทยเค้าประเมินตัวเองได้ระดับไหน แล้วเราอยู่ระดับไหน

1. มีความสามารถในการผ่อนหรือซื้อบ้านหรือเปล่า – มีเพียง 29% เท่านั้นที่มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะผ่อนหรือซื้อบ้านได้ (ก็บ้านสมัยนี้แพ๊งแพงเนอะ) 40% คิดว่าน่าจะมี และ 31% ไม่มี
2. มีความสามารถในการจัดการด้านการศึกษาให้ตัวเองและครอบครัวไหม – มีเพียง 29% ที่มั่นใจว่าจ่ายค่าเทอมให้ลูกไหว, 39% คิดว่าน่าจะมี และ 32% ไม่มี
3. มีความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ตนเองและครอบครัวไหม – มีเพียง 26% ที่มั่นใจว่ามีเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลให้ตนเองและครอบครัว, 36% คิดว่าน่าจะมี และ 39% ไม่มี
4. หากทำงานไม่ได้มีความมั่นคงทางด้านการเงินเพียงพอไหม – มีเพียง 24% ที่มั่นใจว่ามีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่สามารถทำงานได้, 32% คิดว่าน่าจะมี และ 45% หรือเกือบครึ่งนึงของคนไทยส่วนใหญ่ที่ห้ามป่วยห้ามบาดเจ็บ ต้องทำงานต่อเนื่องตลอด (ชีวิตต้องสู้)
5. มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับวัยเกษียณไหม – มีเพียง 25% เท่านั้นที่มั่นใจว่าตัวเองมีเงินเก็บเพียงพอสำหรับเกษียณ, 29% คิดว่าน่าจะมี และ 46% หรือเกือบครึ่งนึงของคนไทยส่วนใหญ่ ตอบอย่างมั่นใจว่ายังไม่มี
6. อายุเท่าไหร่ควรเกษียณ – อายุเฉลี่ยที่ 60 ปี

ข้อสุดท้ายนี่ควรโฟกัส “อายุ 60 ปี” เป็นอายุที่คนไทยส่วนใหญ่มองว่าแก่แล้วและไม่สามารถทำงานได้แล้ว แต่ถ้าไปถามคนไทยที่อายุ 60 ปี มากกว่า 69% กลับไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่และยังต้องการทำงานอยู่ เหตุผลหลักไม่ใช่แค่เพื่อเงินเท่านั้น แต่ยังต้องการความกระฉับกระเฉงและความสนุกอยู่

ถึงผู้สูงอายุชาวไทยจะยังมีไฟ แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยกลับปฏิเสธคนกลุ่มนี้โดยมองว่าแก่เกินกว่าที่จะทำงานได้แล้ว ความจริงอันโหดร้ายกว่านั้นคือบริษัทเอกชนหลายแห่งกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี แต่ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทุกประเทศจะรู้สึกว่าคนแก่คือคนอายุ 66 ปีขึ้นไป และยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วเช่น นิวซีแลนด์และอังกฤษ มองว่าคนแก่ที่ไม่สามารถทำงานได้แล้วคือคนอายุ 70 ปี

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าชาวไทยส่วนมากกำลังติดกับดักอายุ (Age trap) เกษียณไว ไร้เงินเก็บ คือโดนสังคมบอกว่าต้องเกษียณตอนอายุ 60 ปีนะ แต่ยังไม่มีเงินเก็บที่เพียงพอจะใช้หลังเกษียณ ซึ่งจากผลสำรวจข้างต้น มีเพียงแค่ 25% เท่านั้นที่มั่นใจว่ามีเงินเตรียมพร้อมสำหรับเกษียณ

นอกจากจะมีเงินไม่เพียงพอเพื่อใช้หลังเกษียณ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็ไม่เคยปราณีเรา เพราะค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี และสูงขึ้นตามอายุ ด้วย ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยกลุ่มอายุ 50 – 59 ปีมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 11,000 บาทต่อปี และกระโดดเป็นสองเท่าคือ 23,000 บาทต่อปีเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

หลังจากทำแบบทดสอบวันนี้แล้ว ได้คำตอบในใจแล้วไม่ต้องบอกใคร ให้ดูว่าข้อไหนที่เรายังไม่มั่นใจ เป็นข้อที่เราต้องพัฒนาตัวเอง และกลับมาตอบตัวเองใหม่ในปีหน้าว่า “มีแน่นอน” เพราะคำถามแต่ละข้อเป็นพื้นฐานทางการเงินที่เราควรต้องวางรากฐานให้แน่นก่อนที่จะใช้จ่ายในด้านอื่นๆ นะจ๊ะ ซึ่งแน่นอนว่าการทำทุกข้อให้ “มีแน่นอน” อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากที่เราไม่สามารถเก็บได้ทั้งหมดในปีเดียว แต่การวางแผนที่ดีจะทำให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นได้ เช่นการเก็บก่อนใช้ การนำเงินไปลงทุนให้งอกเงย รวมไปถึงการวางแผนซื้อประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ ที่ช่วยให้เรามั่นใจมากขึ้น และสามารถมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ดูข้อมูลผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cigna.co.th/360well-being/financial