“ยั่งยืนไม่ยาก” บทสรุปจากงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING

0
470

#GC

“ความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
“ความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่ทางเลือกของความอยู่รอด แต่คือทางออกเดียวของโลกใบนี้ต่างหาก

ภาวะโลกร้อน กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล จึงได้ตั้งเป้าหมาย “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050”

โดยมี 3 เสาหลัก คือ
1. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดการปล่อยของเสีย
2. ลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง และคาร์บอนต่ำ
3. ดูดซับคาร์บอน ด้วยการปลูกป่า และค้นหาเทคโนโลยีใหม่

จากทั้ง 3 เสาหลัก ก็ได้ถูกคิดค้นและพัฒนามาเป็นโครงการต่าง ๆ มากมายกว่า 200 โครงการ

และเมื่อไม่นานมานี้ พี่เม่าได้ไปร่วมงาน “GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING”
ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง GC กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”

GEN S หมายถึง Generation Sustainability ซึ่งก็คือคนทุกเพศ ทุกวัย ที่ใส่ใจในความยั่งยืนนั่นเอง

ในงานนี้ GC ได้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงศักยภาพและเทคโนโลยีการผลิตเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงคาร์บอนต่ำมากมาย
พี่เม่าจะเลือกหยิบบูทเด่น ๆ ที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง

1. GC ร่วมกับ allnex ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins
นำเสนอเคมีภัณฑ์เคลือบผิว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน และลดการปล่อยของเสียในกระบวนการผลิต

โดยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของ allnex ยังถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น
สีพ่นตู้คอนเทนเนอร์, สีเฟอร์นิเจอร์ และ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

2. GC ร่วมกับ NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพคาร์บอนต่ำชั้นนำของโลก
สร้างนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพจากน้ำตาลจากอ้อย

เป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำตาลจากอ้อย โดยนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพพอลิแลกติกแอซิด (PLA)
ซึ่งพลาสติกชีวภาพนี้ ถูกนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น การพิมพ์ 3 มิติ, ถุงชา, แก้วกาแฟ

และที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100%

3. มีบูทที่แสดงให้เห็นว่า GC เป็นบริษัทไทยรายแรก ที่ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันพืชใช้แล้ว จากการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ถือเป็นการเอานวัตกรรม มาสร้างเป็นพลังงานหมุนเวียน ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

4. GC ร่วมกับกลุ่มปตท. ทำโครงการ Eastern Thailand CCS Hub
เพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวร

โดยวิธีการก็คือ จะมีเครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่อากาศในบริเวณโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม

จากนั้นคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกส่งไปยังสถานีรวบรวมชั่วคราวที่อยู่บนฝั่ง แล้วก็ส่งไปยังแหล่งกักเก็บนอกชายฝั่งอีกทอดหนึ่ง

ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกอัดกลับเข้าชั้นหินใต้ดินถาวร ไม่ปล่อยออกสู่บรรยากาศอีก

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่พี่เม่าเห็นว่าเจ๋งดี

5. GC ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน ทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูและบำรุงรักษาระบบนิเวศ

โดยที่ผ่านมาก็มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น
– โครงการปลูกป่าชายเลน 3,457 ไร่ ต้นไม้กว่า 2 ล้านต้น
– โครงการฟื้นป่ารักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด 2,500 ไร่
– โครงการ “ยิ่งปลูกยิ่งดี” เปลี่ยนกองขยะในกรุงเทพฯ ให้เป็นป่า

จนมาถึงโครงการล่าสุดคือ การศึกษาการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง
ซึ่งการปลูกข้าวแบบนี้ ก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่น
– ใช้น้ำน้อยลงช่วยลดต้นทุน แต่ในทางกลับกันก็เพิ่มผลผลิตให้ด้วย
– ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์

และเมื่อเกษตรกรมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ก็สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ เป็นการสร้างรายได้อีกทางด้วย

เรียกได้ว่า ดีต่อทั้งเกษตรกร และดีต่อสิ่งแวดล้อมเลย

6. โครงการ “YOUเทิร์น” เทิร์นขยะพลาสติก เริ่มต้นที่ YOU
คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกรีไซเคิล ให้กลับมาใช้ได้ใหม่ และนำไปผลิตเป็นสินค้าที่น่าใช้

โดยเริ่มตั้งแต่การแยกขยะพลาสติก และนำมาทิ้งที่จุดรับพลาสติกสะอาด YOUเทิร์น หรือ YOUเทิร์น Drop Point

ทางโครงการจะรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติกอีกครั้ง จากนั้นก็เชื่อมต่อการขนส่งเข้าสู่ ENVICCO โรงงานรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานโลกของ GC กับโรงงานรีไซเคิลพันธมิตรที่ได้มาตรฐาน

และนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และช่วยลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กัน

นั่นก็แปลว่า คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แบบนี้ และกลายมาเป็น GEN S
ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตรงกับแนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” ได้จริง ๆ

#MAOxGC