ก.ล.ต. ทำอะไรในตลาดทุน ?

0
618

ยุคดิจิทัลส่งผลให้โลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากรวมศูนย์สู่กระจายศูนย์ จากการเคาะกระดานสู่แอปมือถือ แต่หน่วยงานหนึ่งที่เคียงคู่กับตลาดทุนไทยเสมอคือ ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ก.ล.ต. ทำอะไรบ้าง ความจริง ก.ล.ต. มีบทบาทค่อนข้างกว้าง

สมมติ “บริษัทกระทิงทะยาน” อยากระดมทุนเพื่อขยายกิจการ เช่น การขายหุ้น ออกหุ้นกู้ หรือออกโทเคนดิจิทัล อันดับแรกคือต้องยื่นคำขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต. ก่อน ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยกฎหมายและกฎเกณฑ์มีการปรับปรุงผ่านการรับฟังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอยู่เสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มความยืดหยุ่นให้ภาคธุรกิจ

จากนั้นเมื่อ “บริษัทกระทิงทะยาน” เข้าสู่ตลาดทุนแล้ว ก.ล.ต. ยังคอยกำกับดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ เช่น งบการเงิน โครงสร้างการบริหาร ความเสี่ยง ให้สาธารณชนติดตามการดำเนินการได้ เพื่อปกป้องรักษาสิทธิผู้ลงทุน

หากหุ้นของ “บริษัทกระทิงทะยาน” ถูกปั่น สร้างราคาให้ผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะเป็นด่านแรกในการตรวจสอบและส่งข้อมูลการกระทำผิดให้ ก.ล.ต. เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว ก.ล.ต. ก็มีหน้าที่ตรวจสอบ และหากพบว่าเป็นความผิดตามกฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล ก็ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป

ก.ล.ต. สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เช่น การเพิกถอน หรือพักใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน การดำเนินคดีอาญา การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ในส่วนการดำเนินคดีอาญา ก.ล.ต. จะไปแจ้งความต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำหรับเงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลังต่อไป

จากตัวอย่างนี้จะเห็นบทบาทหน้าที่หลัก ๆ ของ ก.ล.ต. ได้ดังนี้

1. #กำกับดูแลตลาดทุนไทย
ก.ล.ต. มีพันธกิจหลักในการกำกับและพัฒนาตลาดทุน ซึ่งสิ่งสำคัญในการกำกับอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกลางคือกฎหมายและกฎเกณฑ์ แต่โลกการลงทุนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก กฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ จึงต้องปรับให้ทันโลกอยู่เสมอ หากเข้าเว็บ ก.ล.ต. จะเห็นว่ามีการประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การแก้กฎหมายมาตฐานการกำกับต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น พรบ.หลักทรัพย์ฯ และ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย อย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ทำตามอำนาจของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 ฉบับในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการทบทวนและเตรียมปรับแก้ไข พรบ.หลักทรัพย์ฯ และ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ รวมถึงยกระดับความร่วมมือกับ Regulator ในต่างประเทศเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาดทุนไทยให้มีความเป็นสากล

2. #อำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ
ตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญของภาคธุรกิจในการระดมทุนเพื่อให้กิจการเติบโต ก.ล.ต. จึงมุ่งมั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล SEC Digital Services “เข้าถึงไว เข้าใจง่าย ได้ผลเร็ว” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนดำเนินงานของภาคธุรกิจ จูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาระดมทุน จากภาคประชาชนผ่านตลาดทุน ผู้ลงทุนก็มีทางเลือกมากขึ้นเช่นกัน

3. #เสริมภูมิคุ้มกันผู้ลงทุน
– ส่งเสริมความรู้ด้านการลงทุน เช่น เว็บไซต์ให้ความรู้ผู้ลงทุน www.smarttoinvest.com บทเรียนออนไลน์ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล www.seccryptoacademy.com รวมถึงติ๊กต็อก ThaiSEC_Official เพื่อสื่อสารความรู้การลงทุนที่เป็นประโยชน์ ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม

– ออกข่าวเตือนเมื่อพบประเด็นการหลอกลวงลงทุน/พัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบ

– อัปเดตข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทุกช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.sec.or.th เฟซบุ๊ก สำนักงาน กลต. ทวิตเตอร์ ThaiSEC_News และยูทูป ThaiSEC
หากถูกชักชวนให้ลงทุน ก.ล.ต. มีช่องทางให้ตรวจสอบข้อมูล เพื่อเช็กว่าใครหรือหน่วยงานไหนมีใบอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ ผ่าน SEC Check First Application
สามารถติดต่อ ก.ล.ต. ทั้งการยื่นเรื่องร้องเรียน แจ้งข้อมูล รวมถึงเสนอความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ได้สะดวก ผ่านหลายช่องทาง เช่น “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

จากบทบาทเหล่านี้ ก.ล.ต. จึงเป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและน่าเชื่อถือในการลงทุน ให้มั่นใจได้ว่าตลาดทุนไทยเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทุกบริบทของโลกการลงทุนที่เปลี่ยนเร็ว และยกระดับให้ตลาดทุนไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล