“เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ใคร ซื้ออะไร ที่ไหน ?”
คือคำถามยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมา
แม้แต่พี่เม่าเองก็สงสัยเหมือนกันว่า อย่างพี่เม่าจะมีสิทธิ์ได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับเขาไหม ?
วันนี้พี่เม่าเลยไปหาคำตอบพร้อมกับรายละเอียด ฉบับเข้าใจง่าย ๆ มาให้แล้ว มาดูกันเล๊ยย
(พี่เม่าขอเรียกสั้น ๆ ว่า “เงินดิจิทัลฯ” นะ)
1. ใครมีสิทธิ์ได้เงินดิจิทัลฯ บ้าง ?
คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลฯ ต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
– เป็นคนสัญชาติไทย อายุ 16 ปีขึ้นไป
– รายได้ไม่เกิน 8.4 แสนบาทต่อปี
– เงินฝากธนาคารไม่เกิน 5 แสนบาท
รวมแล้วก็คิดเป็นจำนวนราว 50 ล้านคน
(อย่างพี่เม่าก็เข้าเงื่อนไขนี้ด้วย เพราะเงินเก็บส่วนใหญ่ ดอยอยู่ในพอร์ตหุ้นหมดแล้ว 555)
2. เงินดิจิทัลฯ สามารถใช้ซื้ออะไรได้บ้าง ?
สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ทุกประเภทเลย ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์การเกษตรอย่างปุ๋ย ก็ได้เช่นกัน
แต่ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่เรียกว่า “Negative List” เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ
และไม่รวมถึงบริการนะ เช่น ตัดผม ทำเล็บ นวดแผนไทย ค่ารักษาพยาบาล หรือการท่องเที่ยว
3. เงินดิจิทัลฯ ซื้อสินค้าจากที่ไหนได้บ้าง ?
เราสามารถใช้เงินดิจิทัลฯ ผ่านร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ ในเขตพื้นที่อำเภอ ที่อยู่ใกล้เคียงเราได้เลย ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
และต้องเป็นการจ่ายเงินแบบเห็นหน้ากัน ซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ได้นะ
สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ คาดว่าจะมีมากกว่า 1,000,000 แห่ง แบ่งออกเป็น
– ร้านค้าปลีกนิติบุคคล 900,000 แห่ง (คิดเป็น 73.8%)
– ร้านโชห่วย 300,000 แห่ง (คิดเป็น 24.6%)
– ร้านสะดวกซื้อ 20,000 แห่ง (คิดเป็น 1.6%)
แปลว่า ร้านค้าที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ก็ใช้ได้แทบจะทั้งหมดเลย
ซึ่งร้านค้ากว่าล้านแห่ง ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ก็ทำหน้าที่เสมือนเป็น Hub หรือตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ได้รับสิทธิราว 50 ล้านคน กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ และช่วยดึงดูดให้ร้านค้าและผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบภาษีมากขึ้นอีกด้วย
References
-กรุงเทพธุรกิจ
-MarketThink
-Dailynews