เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก กรุงเทพประกันภัย หรือ BKI บริษัทประกันที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 70 ปี
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า BKI กำลังปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ผ่านการจัดตั้ง Holding Company
โดยใช้ชื่อว่า บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH
BKI จัดเป็นอีกหนึ่งหุ้นคุณภาพที่ให้ปันผลสม่ำเสมอมากกว่า 5% ต่อปี
(ข้อมูลปันผล 4 ปีย้อนหลัง ปี 2563-2566) ราคาหุ้น 3 ปีย้อนหลัง เติบโตกว่า 22% รายได้ปีล่าสุดกว่า 20,000 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิเกือบ 15% ด้วยความแข็งแกร่งนี้เอง ทำให้นักลงทุนหลายคนเลือกใช้ BKI เป็นหุ้นหลบภัยยามตลาดผันผวน
ธุรกิจประกันภัยก็ดีอยู่แล้ว ทำไม BKI ถึงจะปรับโครงสร้างเป็น Holding Company ล่ะ ?
ต้องบอกว่า ธุรกิจเดิมยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน พูดง่าย ๆ ว่า #BKIเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือโฮลดิ้งส์
ซึ่งการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ มีเหตุผลดังนี้
1. เพื่อขยายการลงทุน
การจัดตั้ง Holding Company จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ
นอกเหนือจากธุรกิจประกันภัย โดยหลังจากปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ BKIH จะเข้ามาถือหุ้น BKI โดยที่ BKI จะยังคงดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยดังเดิม และ BKIH จะสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ได้ด้วย
ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ต่อยอดสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
ช่วยให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ตัดสินใจได้รวดเร็ว
และสามารถโฟกัสกับจุดแข็งของแต่ละธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. เพื่อเพิ่มโอกาสในการระดมทุน
โครงสร้างธุรกิจแบบ Holding Company จะช่วยให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่นอกบริษัทประกันนั้น
สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่เพียงอย่างเดียว
และยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนได้หลากหลายกลุ่ม ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
4. เพื่อเพิ่มมูลค่าบริษัท
โครงสร้างแบบใหม่นี้ จะช่วยให้เห็นภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดได้อย่างชัดเจน โปร่งใส ดึงดูดนักลงทุน
ซึ่งจะส่งผลดีต่อมูลค่าบริษัท และในอนาคตหากแต่ละบริษัทเติบโต ก็สามารถ Spin-off บริษัท
เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับ BKIH ได้
5. เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ
BKIH จะสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และยืดหยุ่น
ซึ่งการจัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศนั้น จะทำให้สามารถแยกความเสี่ยงทางการเมือง เศรษฐกิจ
และกฎระเบียบออกจากธุรกิจหลักในประเทศไทยได้
ซึ่งจากเหตุผลทั้ง 5 ข้อนั้น ก็ดูเหมือนว่า การปรับโครงสร้างเป็น Holding Company
น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งตัวบริษัทเอง ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของ BKIH ในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนอาจกังวลคือ หลังจากปรับโครงสร้างเป็น Holding Company
จะส่งผลกระทบกับเงินปันผลที่ได้รับไหม ?
โดยภายหลังการเปลี่ยนแปลง ผู้ถือหุ้นจะยังคงได้รับผลตอบแทนจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก BKI
(ที่กลายเป็นบริษัทลูกของ BKIH) และในอนาคตอาจได้รับผลตอบแทนจากธุรกิจใหม่ภายใต้ BKIH
ซึ่งจะยิ่งส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นด้วย
และอีกหนึ่งประเด็นคือ ด้านการลงทุน หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า
รายได้ส่วนหนึ่งของธุรกิจประกันนั้นมาจากรายได้จากเงินลงทุนที่บริษัทนำเงินที่ได้รับจากเราไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ
ซึ่งถ้าเข้าไปดูสัดส่วนเงินลงทุนของ BKI จะมีดังนี้
– หุ้นสามัญ 33,389 ล้านบาท
– พันธบัตรรัฐบาล 7,792 ล้านบาท
– ตราสารหนี้ 1,044 ล้านบาท
– หน่วยลงทุน 944 ล้านบาท
โดยรวมแล้วเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดตั้ง Holding Company นั้น
จะทำให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น จากการสร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเก็ตกันแล้วว่า ทำไม BKI ถึงต้องปรับโครงสร้างเป็น BKIH
นั่นก็เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน และเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวนั่นเอง 😀
***สำหรับผู้ที่ถือหุ้น BKI อยู่แล้ว ต้องการแลกหุ้นเป็น BKIH ตอนนี้บริษัทกำลังทำคำเสนอซื้ออยู่ (Tender Offer)
ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. – 5 มิ.ย. 2567
โดยหุ้น BKI สามารถแลกเป็นหุ้น BKIH ได้ในอัตราส่วน 1:1
โดยสิทธิที่ได้รับจะไม่ด้อยไปกว่าสิทธิที่ผู้ถือหลักทรัพย์นั้นเคยได้รับอยู่เดิม
ผู้ที่มีหุ้นอยู่ในบัญชีหลักทรัพย์ (Scripless)
สามารถแสดงความจำนงได้โดยผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ได้ที่เว็บไซต์ www.bualuang.co.th (ระบบ e-Tender)
ส่วนผู้ที่มีใบหุ้นหรือฝากหุ้นกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในบัญชี 600
สามารถแสดงความจำนงโดยยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
พร้อมกับเอกสารประกอบด้วยตนเองกับทางบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่)
ซึ่งไม่สามารถส่งเอกสารทางไปรษณีย์ได้
แนะนำให้ผู้ถือหุ้นควรทำรายการล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วันทำการ ก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลารับซื้อ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
BKIH Call Center โทรศัพท์ 0 2285 8999
หากกระบวนการแลกหุ้นสำเร็จ (ผู้ถือหุ้น BKI ตอบรับคำเสนอซื้อมากกว่า 75%) BKIH
ก็จะดำเนินการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำการเพิกถอนหุ้น BKI ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน หุ้นในพอร์ตที่เราแสดงความจำนงแลกหุ้น ก็จะเปลี่ยนจาก BKI เป็น BKIH โดยอัตโนมัติ
แต่หากผู้ถือหุ้น BKI ไม่แสดงความจำนงแลกหุ้น และ BKIH จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น ?
ในวันที่ BKIH เข้าตลาด หุ้น BKI ในพอร์ตของเราจะหายไป แต่ความจริงเรายังเป็นผู้ถือหุ้น BKI อยู่นะ
แค่หุ้นอยู่นอกตลาดแล้ว ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบต่างๆ เช่น ขาดสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น
เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี และไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนของ BKIH ในอนาคต
ดังนั้นนักลงทุนอย่าลืมเปิดพอร์ตดูนะว่าถือหุ้น BKI อยู่หรือเปล่า บางคนซื้อจนลืม ถ้าถืออยู่
อย่าลืมดำเนินการแลกหุ้นเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง
References
– ข้อมูลบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
– ข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง 2 เมษายน 2564 – 1 เมษายน 2567 ที่มา FINNOMENA