ทำความรู้จัก แหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือสีเขียวแห่งใหม่ของภูมิภาค

0
4740

Keywords:  แหลมฉบังเฟส3, ท่าเรือสีเขียวแห่งใหม่ของภูมิภาค , ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3

พี่เม่ามีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานท่าเรือสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเนเธอแลนด์มา อย่างล้ำ!

ต้องเล่าก่อนว่าสมัยนี้คนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัทต่างๆ ก็พยายามผลักดันนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Net Zero Emissions กันรัวๆ ซึ่งท่าเรือสีเขียวก็เป็นหนึ่งสิ่งที่บริษัททั่วโลกต้องการใช้บริการมากขึ้น เพื่อจะได้ทำมาหากินกันได้อย่างยั่งยืน

Port of Rotterdam (PoR) ท่าเรือที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปยุโรป ขนส่งทั้งสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง ตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะการขนส่งพลังงานผ่านท่าเรือนี้ คิดเป็น 13% ของความต้องการพลังงานทั่วยุโรปเลยล่ะ จัดเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ของยุโรป และเป็นต้นแบบของการขนถ่ายและกระจายสินค้าของท่าเรือทั่วโลก

ขึ้นชื่อว่าท่าเรือแห่งเมืองกังหันลม PoR มีการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพลังงานลม ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย แถมท่าเรือติดกับทะเลเหนือ พี่เม่าลองไปยืนกลางแจ้งโดนลมพัดหัวหูปลิวหมด จึงมีกังหันตั้งรับลมตลอดแนว ประมาณร้อยกว่าต้น ซึ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย และกำลังพัฒนาโครงการพลังงงานลมนอกชายฝั่ง หรือคือการเอากังหันลมไปตั้งกลางทะเล ที่จะให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมไปอีก

ถึงจะเป็นท่าเรือเก่าแก่ แต่เทคโนโลยีสุดล้ำ มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการบริหารจัดการคอนเทนเนอร์ต่างๆ รวมถึงเน้นการขนส่งทางราง โดยมีรางรถไฟเข้าถึงท่าเทียบเรือ สามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมากในขณะที่ปลดปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการขนส่งแบบอื่น

แม้อุตสาหกรรมบริเวณรอบท่าเรือจะมีโรงกลั่นและโรงงงานปิโตรเคมีหลายแห่ง แต่ปัจจุบันPoR อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Carbon Capture & Storage (CCS) อธิบายแบบชาวบ้านๆ คือระบบดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากอุตสาหกรรม แล้วต่อท่อไปฝังลงหลุมใต้ทะเลเหนือ

PoR ประกาศตัวเป็น “ศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนของทวีปยุโรป” หรือ “Europe’s Hydrogen Hub” ซึ่งไฮโดรเจนจัดเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้งานได้หลากหลาย (แต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ฮิตเพราะต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่) โดยมีแผนผลิตกรีนไฮโดรเจน(การใช้พลังงานสะอาดมาผลิตไฮโดรเจน) แผนพัฒนาท่าเรือขนส่งแอมโมเนีย (ไฮโดรเจนที่แปรรูปเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง) การพัฒนาท่อขนส่งไฮโดรเจน ฯลฯ

PoR จึงถือเป็น Green Port ต้นแบบที่ทั่วโลกต่างมาดูงานกัน

ประเทศไทยเองก็กำลังจะมี Green Port คล้ายๆ กันนี้เหมือนกันนะ นั่นคือ “ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3”

“ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3”  จะเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ มีศักยภาพเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือที่เรียกว่า “เรือแม่” ได้ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับคอนเทนเนอร์จาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี และรองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันเป็น 3 ล้านคันต่อปี รวมถึงมีโครงสร้างพื้นที่ที่รองรับการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทาง รถ รถไฟ และเรืออย่างครบวงจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้าและส่งออกได้มากขึ้นกว่า 50% ต่อปี

“ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” มีเป้าหมายสู่การเป็น “ท่าเรือสีเขียว” มีการใช้พลังงานสะอาดและระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ และเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2568

โดย “ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3”  มีแนวทางพัฒนาดังนี้

  1. การใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่า เช่น เครนไฟฟ้า แคร่ไฟฟ้า หุ่นยนต์อัตโนมัติ
  2. การใช้แบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า และ การพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอร์รี่
  3. การใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานไฮโดรเจนที่อยู่ในระหว่างการศึกษา
  4. การเปลี่ยนระบบการขนส่งจากรถบรรทุก เป็นรถไฟและเรือมากขึ้น โดยมีรางรถไฟเข้าไปถึงท่าเทียบเรือ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง
  5. การใช้ระบบ IT Intelligence ในการจัดการพลังงานและการจราจรภายในท่า
  6. การบริหารจัดการของเสีย และรีไซเคิลน้ำ

กลุ่ม ปตท. ได้ลงทุนในส่วนของท่าเทียบเรือ F  โดยจัดตั้งบริษัท GPC International Terminal ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% โดยมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

“ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” เป็นหนึ่งในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยภายใน พ.ศ. 2593 และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้การขนส่งทางทะเลมีการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว