ไทยเครดิต ธนาคารพาณิชย์ เพื่อคนตัวเล็กในสังคม

0
1692

#หุ้นIPO #ธนาคารไทยเครดิต #CREDIT

ไทยเครดิต ธนาคารพาณิชย์ เพื่อคนตัวเล็กในสังคม

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ถ้าจะกู้เงินจากธนาคารไปทำอะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่ธนาคารจะถามหา ก็คือ Statement

แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายเล็กมาก ๆ อย่างพ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ที่ไม่ได้ทำบัญชี หรือมี Statement แบบมนุษย์เงินเดือน จะขอกู้ได้อย่างไร ?

คำตอบก็คือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ทางธนาคารจะปล่อยกู้ให้คนเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ คือกำลังสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

มีหนึ่งธนาคารที่เห็นปัญหานี้ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้บริการสินเชื่อแก่ ผู้ประกอบการ, SME รายเล็ก และ พ่อค้าแม่ค้าที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ นั่นก็คือ “ธนาคารไทยเครดิต”

โดย ธนาคารไทยเครดิต หรือ CREDIT ถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อคนตัวเล็กในสังคม และเป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกในรอบ 10 ปี ที่กำลังจะ IPO

แล้ว ธนาคารไทยเครดิตมีที่มาที่ไปอย่างไร ?

แรกเริ่มเดิมที ธนาคารไทยเครดิต ก่อตั้งขึ้นในปี 2513 โดยใช้ชื่อเดิมว่า บริษัท กรุงเทพสินทวี จำกัด
ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด ในปี 2526 และพัฒนาขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยในปี 2550 จากนั้นจึงเริ่มปรับกลยุทธ์ไปโฟกัสกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อย ในปี 2556

โดยมีบริการหลักต่าง ๆ ดังนี้

– สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) สำหรับธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีพนักงานไม่เกิน 5 คน วงเงินกู้ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 35 ล้านบาท

– สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ (Micro and Nano Finance) สำหรับร้านค้าขนาดเล็ก และพ่อค้าแม่ค้าในตลาด วงเงินกู้ตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท

– ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่น เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ

– บริการเงินฝาก

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 66) ธนาคารไทยเครดิต มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 527 สาขา ได้แก่

– สาขาสินเชื่อ 267 สาขา
– สาขา Kiosk 233 สาขา
– สาขาเงินฝาก 27 สาขา

จากปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และจำนวนสาขาที่ครอบคลุมนี่เอง ที่ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตสินเชื่อของธนาคารไทยเครดิต เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ในมือกว่า 138,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 66) แบ่งออกเป็น

– สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี 67.7%
– สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ 15.3%
– สินเชื่อบ้านแลกเงิน 15.2%
– อื่น ๆ 1.8%

แล้วอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ ธนาคารไทยเครดิต น่าสนใจลงทุน ?

1. ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง

ปี 2563
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,371 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 1,373 ล้านบาท

ปี 2564
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,494 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท

ปี 2565
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,052 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 2,353 ล้านบาท

โดยระหว่างปี 2563-2565 ธนาคารไทยเครดิตมี
– รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) เท่ากับ 31.7% ต่อปี
– กำไรเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) เท่ากับ 30.9% ต่อปี

และล่าสุด งวด 9 เดือน ปี 2566
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 9,784 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท

2. ความสามารถในการทำกำไรโดดเด่น

โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิต มีอัตราส่วนทางการเงินที่น่าสนใจ เช่น
– ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 8.2%
– อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 21.8%
– อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) 36.2% ต่ำสุดในอุตสาหกรรม

ตอกย้ำถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุน และการทำกำไร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม

3. พอร์ตสินเชื่อเติบโต

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่าน คือปี 2563-2565 ธนาคารไทยเครดิต มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเฉลี่ยสะสม (CAGR) ถึง 33% ต่อปี
และ ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้จำนวน 138,435 ล้านบาท

ด้วยจุดแข็งและอัตราการเติบโตที่โดดเด่นนี้เอง ทำให้ธนาคารไทยเครดิตเตรียมขยายธุรกิจ ด้วยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุน และใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงปรับปรุง และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับใครที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปพร้อมกับธนาคาร ผ่านหนังสือชี้ชวนได้ที่ https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=527568&lang=th หรือที่เว็บไซต์ของธนาคารไทยเครดิต www.thaicreditbank.com

#MAOxCREDIT